วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการสืบสวน พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์

หลักทั่วไปในการสืบสวน
พล.ต.ท.วรรณรัตน์  คชรักษ์

             หน้าที่โดยหลักแล้วของตำรวจ    คือ   การป้องกันปราบปราม และจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี  รับโทษตามกฎหมาย  ซึ่งเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง    ปัจจุบันตำรวจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่หลายด้านด้วยกัน       ทำให้ปัจจุบันความเข้มข้นในการสืบสวนติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิด ลดหย่อนประสิทธิภาพลง       ซึ่งมีหลายคดีที่เกิดเหตุแล้วไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้   และเมื่อเกิดเหตุแล้ว   ไม่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้นั้น เสมือนเป็นการเพาะเชื้อร้ายของอาชญากรรม     จากอาชญากรรมเล็กน้อย กลายมาเป็นอาชญากรรมขั้นสูงซึ่งร้ายแรงกว่าต่อไป   เพราะฉะนั้นจะต้องมีการพัฒนางานด้านงานสืบสวนให้มีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การจับกุมตัวผู้กระทำความผิด    ซึ่งหลักสูตรการสืบสวนคดีอาญาจะสามารถทำให้บุคคลากรมีความรู้ความสามารถเพื่อนำไปใช้ในอนาคต       และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ      แต่ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนจะต้องตระหนักว่า       ปัจจุบันมีองค์กรต่างๆ มากมายที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของตำรวจ เช่น องค์กรเอกชน ( NGO ) ต่างๆ รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชน          และคณะกรรมการต่างๆ
   เพราะฉะนั้นงานด้านสืบสวนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านอย่างแท้จริง  และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนจะต้องมีคุณลักษณะพื้นฐานดังต่อไปนี้คือ
   1.  มีใจรัก    มีความสนใจในงานด้านสืบสวนอย่างแท้จริง และมีความกระตือรือร้นพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา ซึ่งจะต้องทำใจให้ได้
   2.  มีความอดทน
   3.  มีความเสียสละ
   4.  ซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
   5.  ไม่เป็นคนโอ้อวด  ขี้คุย
   6.  มีความมุ่งมั่น ตั้งใจสูง  เช่น  ถ้าจับคนร้ายไม่ได้ไม่ยอมกลับ
   7.  ต้องไม่มีโรคประจำตัว ที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน
   8.  ต้องไม่มีปัญหาครอบครัว  ถ้ามีอย่าเอาปัญหาต่างมายุ่งกับงาน จะต้องแบ่งแยกให้ได้
   9.  มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ และกฎหมายอื่นที่สำคัญ  เช่นกฎหมายอาญา, วิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายรัฐธรรมนูญ
   10.  มีความรู้ในงานพิสูจน์หลักฐาน และนิติวิทยาศาสตร์  เช่น ศพ, การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
   11.  ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น ศาล ,อัยการ, เรือนจำ ,ไปรษณีย์ ฯลฯ
   12.  รักษาความลับ    ซึ่งสิ่งไหนควรเปิดเผยได้ และสิ่งไหนไม่ควรเปิดเผย
   13.  พัฒนาตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอาชญากรรมทุกรูปแบบอยู่ เสมอ
การเตรียมความพร้อมในการเป็นนักสืบ
1.   จะต้องมีห้องปฏิบัติการในการสืบสวน   ซึ่งจะต้องเป็นส่วนตัว ป้องกันความลับต่อบุคคลภายนอก  และสื่อมวลชนได้
2.   คัดเลือกผู้ใต้บังคับบัญชา   ที่มีความรู้ความชำนาญและที่เหมาะสมกับงาน และต้องมีคำสั่งจากหัวหน้าหน่วยงานที่ถูกต้อง
3.   เครื่องมือ  เครื่องใช้  สำหรับใช้ปฏิบัติงาน เช่น  กล้องถ่ายรูป, กล้องวีดีโอ, กล้องส่องทางไกล, เทปอัดเสียง   ต้องมีความพร้อม
4.   มีคอมพิวเตอร์ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานด้านข้อมูล
5.   อาวุธ  เช่นอาวุธปืนที่ใช้จะต้องมีความรู้ และความชำนาญ
6.   มีภาวะผู้นำ    สามารถกระตุ้นผู้ใต้บังคับบัญชาให้มีความกระตือรือร้นร่วมมือร่วมใจในการทำงาน  ได้ด้วยกัน  เสียด้วยกัน  อย่างเอาเปรียบลูกน้อง  ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง และผู้อื่น   รวมถึงการซื้อใจผู้ใต้บังคับบัญชา
7.   ความดี ความชอบ  เมื่องานเสร็จแล้ว จะต้องร่วมรับความชอบด้วยกัน มีการรายงานผลการปฏิบัติของทีมงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบให้ทั่วถึงรวมถึงลูกน้องด้วย  อย่าเอาดีแต่ตัวเอง หากมีโอกาสจะต้องให้ลูกน้องผู้นำความสำเร็จมาสู่งาน ได้เข้าพบผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะทำให้ลูกน้องเกิดความภาคภูมิใจ แต่จะต้องขออนุญาตผู้บังคับบัญชาก่อน “อย่าเก่งคนเดียว ต้องทำงานเ ป็นทีม”
8.   ฝึกลูกน้องให้มีความชำนาญเฉพาะด้าน  เช่น เรื่องยาเสพติด, มือปืนรับจ้าง, ทรัพย์สินหายซึ่งจะมอบหมายพื้นที่รับผิดชอบ ,มอบหน้าที่ในการทำงาน, และความรับผิดชอบในการทำงานของแต่ละคน ให้ลูกน้องมีความรู้สึกถึงการมีความรับผิดชอบในงานนั้นๆ
9.   มีข้อมูลท้องถิ่น   ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการทำงานด้านสืบสวน
10.   เมื่องานสำเร็จแล้ว จะต้องให้ลูกน้องได้พักผ่อนตามสมควร    
วิธีปฏิบัติในการสืบสวน  
1.   ทุกคดีจะต้องออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ไม่ว่าช้าหรือเร็วจะต้องออกไปดูให้ได้
2.   จะต้องไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ  เกี่ยวกับคดีหากไม่มีอำนาจหน้าที่ และอย่าด่านสรุปใดๆ แห่งคดีในสถานที่เกิดเหตุ  หรืออย่าพูดชักนำก่อนที่จะได้รวบรวมและสรุปผลการสืบสวนแล้วนั้น  และอย่าวิจารณ์ต่อหน้าคนอื่น
3.   ถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุ และตรวจร่องรอยในสถานที่เกิดเหตุ
4.   รายงานเหตุให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับทราบโดยเร็ว
5.   การเก็บ หรือ พบอะไรในสถานที่เกิดเหตุจะต้องรวบรวมเข้าในสำนวนการสอบสวนโดยเร็ว อย่าเก็บไว้นานเป็นอันขาด และจะต้องทำบันทึกการตรวจพบไว้
6.   เอกสารใดเกี่ยวกับคดี  เช่น บันทึกจับกุม ,บันทึกการตรวจค้น , คำให้การคดีต่างๆ ที่ตนเองเป็นผู้กล่าวหา หรือพยาน เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการขึ้นพิจารณาในชั้นศาล และยืนยันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเอกสารโดยพลการ
วิธีการสืบสวน    
   1.  สืบสวนก่อนเกิดเหตุ    วัน  เดือน  ปี  ก่อนเกิดเหตุเป็นอย่างไร เช่น ที่มาของอาวุธ และยานพาหนะ  และสถานที่ที่วางแผนและเกี่ยวข้อง
   2.  ขณะเกิดเหตุ    เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร และมีผู้ร่วมกระทำความผิดอย่างไรบ้าง
   3.  หลังเกิดเหตุ    คนร้ายหลบหนีไปที่ใด ทรัพย์สิน และอาวุธของคนร้ายอยู่ที่ใด
ข้อคิดเตือนใจ และข้อแนะนำ
   -  เวลามีคดีสำคัญ หรือ คดีใดๆ   ห้ามมองคนร้ายเป็นศัตรู ห้ามโกรธผู้ร้าย ซึ่งจะทำให้เราเกิดความลำเอียงได้
   -  อย่าจับเพื่อหาพยานหลักฐาน   จะต้องหาพยานหลักฐานก่อนที่จะจับกุมตัว
   -  ไม่มีคดีใดที่จะสืบสวนจับกุมตัวผู้กระทำผิดไม่ได้  เว้นแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น